เกษียณอายุก่อน 60 ทำได้จริงไหม? ต้องวางแผนอย่างไรบ้าง

เกษียณอายุ

เมื่อพูดถึงเรื่องเกษียณอายุ คงมีไม่กี่คนที่นึกภาพตัวเองเกษียณก่อนอายุ 60 ปีออก เนื่องจากช่องว่างระหว่างวัยและสภาพสังคม ส่งผลให้คนรุ่นก่อนหรือวัยกลางคนมองเรื่องความมั่นคงเป็นหลัก จึงปักหลักทำงานสักที่หนึ่งให้ได้ในระยะยาว แต่คนรุ่นใหม่เริ่มมองหาความสมดุลในการใช้ชีวิตมากขึ้น หลายคนก็มีแนวทางในการสร้างความมั่นคงทางการเงินให้ได้ เพื่อให้ตัวเองสามารถเกษียณจากงานประจำได้ตั้งแต่อายุ 50 ปีหรือเร็วกว่านั้น และมีตัวอย่างบุคคลที่ประสบความสำเร็จทางการเงินตั้งแต่อายุยังน้อยให้เห็นอีกด้วย การเกษียณก่อนอายุ 60 จึงเป็นสิ่งที่สามารถวางแผนให้เกิดขึ้นจริงได้

หลักคิดสำคัญในการวางแผนเกษียณอายุก่อน 60

การเกษียณอายุก่อนวัยทำได้จริง เพียงแต่ต้องมีหลักการตั้งต้นที่ดีรองรับ เนื่องจากปัจจัยในชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ระยะเวลาที่ต้องการเกษียณก็แตกต่างกันไปด้วย อีกทั้งยังต้องใช้ความอดทนเอาชนะใจตัวเองอย่างมาก เพื่อให้แผนที่วางเอาไว้ในระยะยาวนั้นไม่สะดุดก่อนเวลา หากมีหลักการสำคัญที่ช่วยยึดเหนี่ยวจิตใจก็จะช่วยสร้างพลังใจได้อย่างมากทีเดียว

1. การก่อหนี้สิน ควรอยู่ภายใต้ความรอบคอบ

หนี้สินเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่สุดที่จะชี้ได้ว่าคนเราจะเกษียณได้อย่างสบายหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นการเกษียณอายุตามกำหนดมาตรฐานหรือการเกษียณก่อนวัยก็ตาม หากคิดจะเกษียณเร็วแต่ยังมีภาระหนี้สินอาจทำให้ระยะเวลาต้องเลื่อนออกไป ทั้งนี้ การเป็นหนี้ไม่ใช่เรื่องที่ไม่ดีเสมอไป การมีหนี้ดี เช่น หนี้ผ่อนบ้านเพื่อความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย หรือหนี้เพื่อการศึกษา ก็สามารถมีได้ แต่ต้องพิจารณาก่อนเป็นหนี้อย่างรอบคอบด้วย

2. สุขภาพการเงินที่ดี ควรมาคู่กับสุขภาพกายใจที่ดี

ถึงแม้จะวางแผนการเงินไว้อย่างมั่นคง แต่ถ้าสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง สภาพจิตใจไม่เอื้ออำนวยให้ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข เงินที่เก็บสะสมมาอาจต้องไปหนักอยู่ที่สัดส่วนค่ารักษาพยาบาลมากกว่าค่าใช้จ่ายทั่วไป ดังนั้นต้องลงทุนกับการดูแลสุขภาพโดยรวม ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างสุขภาพการเงินด้วย

3. ระยะเวลาและแผนการที่ทำได้จริง

ทุกคนสามารถวางแผนเกษียณอายุเป็นภาพฝันที่สวยหรูได้ แต่ถ้าตั้งเป้าหมายไว้เกินจริงอาจทำให้ล้มเลิกกลางคันได้ง่าย ไม่มีแรงจูงใจที่จะทำตามแผนเพราะยากเกินไป จึงต้องมีกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน เป้าหมายหลัก เป้าหมายระยะกลาง และเป้าหมายระยะสั้นระหว่างทางที่ชัดเจน เมื่อมีเป้าหมายย่อย ๆ ที่ชัดเจนก็จะช่วยให้มีแรงจูงใจทำตามแผนอย่างต่อเนื่องด้วย

เกษียณอายุก่อน 60 ได้ต้องมีอะไรบ้าง

นอกจากหลักคิดดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ต่อไปคือการวางแผนเกษียณอายุให้เหมาะสมกับตนเอง สิ่งที่แตกต่างกันไปของแต่ละบุคคลคือ จำนวนเงิน และหมวดหมู่ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นตามแต่ไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกันไป แต่แผนที่จำเป็นโดยพื้นฐานที่ต้องมีเหมือนกัน เพื่อให้การเกษียณก่อนอายุ 60 ทำได้จริง ภายใต้กรอบเวลาเตรียมตัวที่น้อยลงกว่าการเกษียณตามเกณฑ์ปกติ จะไม่พ้น 4 ข้อดังต่อไปนี้

1. เงินสำหรับใช้ชีวิตหลังการเกษียณที่มากเพียงพอ

เงินสำหรับใช้ชีวิตหลังเกษียณอายุอาจแบ่งได้เป็นหลายหมวด ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในกรณีฉุกเฉิน ค่าใช้จ่ายสำหรับการใช้ชีวิตประจำวัน ค่าใช้จ่ายสำหรับการทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเข้าสังคม ค่าใช้จ่ายสำหรับการลงทุนเพื่อความรู้ที่สนใจ เป็นต้น ให้คำนวณตามระยะเวลาที่มีอยู่ บวกกับอัตราเงินเฟ้อที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต หลังจากได้จำนวนเงินที่ควรมีแล้ว ค่อยวางแผนเก็บออมหรือสร้างรายได้ต่อไป

2. เป้าหมายในการใช้ชีวิตหลังเกษียณที่ชัดเจน

หากต้องการเกษียณเร็วเพื่อที่จะได้ไม่ต้องทำงาน โดยที่ไม่มีเป้าหมายว่าอยากทำอะไรหลังเกษียณ อาจต้องมีแผนรองรับในจุดนี้สักหน่อย เพราะเมื่อเกษียณอายุแล้วยังมีเวลาใช้ชีวิตอยู่อีกนานหลายปี อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อจิตใจได้เนื่องจากรู้สึกว่าชีวิตไม่มีความหมาย เสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า โดยหลังเกษียณแล้วยังสามารถหารายได้เพิ่มเติมที่ไม่ใช่รูปแบบงานประจำได้อีก อีกทั้งยังมีกิจกรรมอย่างหนึ่งที่แนะนำเป็นอย่างยิ่ง คือ การติดตามข่าวสารความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ให้ทันโลก ไม่เสี่ยงต่อการถูกมิจฉาชีพใช้กลโกงหลอกปล้นทรัพย์สินที่สั่งสมมานั่นเอง

3. สินทรัพย์ที่ช่วยสร้างความมั่นคงในระยะยาว

กำลังซื้อของเงินสดที่ถืออยู่มีแต่จะลดลง เพราะอัตราเงินเฟ้อมีแต่จะปรับตัวสูงมากขึ้น การลงทุนจะช่วยสร้างผลตอบแทนให้มีเงินใช้หลังเกษียณในจำนวนที่เหมาะสมได้ ดังนั้นจึงต้องเริ่มลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงเอาไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ วางแผนรองรับความเสี่ยงในการลงทุน พร้อม ๆ กับการเก็บออมอย่างสม่ำเสมอ

4. แผนรองรับเหตุฉุกเฉิน หรือเหตุการณ์ไม่คาดฝันต่าง ๆ

แม้จะมีเงินสำรองฉุกเฉินแล้วก็ตาม แต่บางครั้งเหตุฉุกเฉินอาจไม่ได้มาในรูปแบบที่ต้องใช้เงินที่สำรองไว้เท่านั้น อาจเป็นในรูปแบบของโรคระบาดที่ทำให้ออกไปไหนมาไหนไม่ได้ คนที่จะส่งมอบมรดกให้หลังเสียชีวิต อาจเสียชีวิตไปก่อนจัดการมรดก เป็นต้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ควรมีแผนสำรองเอาไว้เสมอ

จะเห็นได้ว่า การวางแผนเกษียณอายุ คือ การวางแผนให้รอบคอบในระยะยาว จำเป็นต้องคิดเผื่อการใช้ชีวิตอย่างรอบด้าน ยิ่งเป็นการเกษียณก่อนวัยแล้ว ยิ่งต้องมีแผนที่รัดกุมกว่าแผนการเกษียณตามระยะเวลาปกติ เนื่องจากเวลาที่ใช้ในการเก็บสะสมสินทรัพย์นั้นสั้นกว่า แต่ถ้าทำได้ตามแผนที่วางไว้ บวกกับการมีแผนสำรองเพื่อความยืดหยุ่นสำหรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน ก็จะช่วยให้ได้พักผ่อนและใช้ชีวิตตามใจชอบก่อนเพื่อน ๆ ในวัยเดียวกันอย่างสบายใจ